นับเป็นครั้งแรกตลอดระยะเวลาการดำเนินงานกว่า 20 ปี ที่โครงการปะการังได้ขยายผลการดำเนินการลงสู่พื้นที่ภาคใต้ จำนวน 2 แห่ง ได้แก่
เกาะไข่ จ.ชุมพร ซึ่งถือว่าเป็นประตูสู่ภาคใต้ และเกาะพยาม จ.ระนอง ซึ่งเป็นพื้นที่เริ่มต้นของทะเลฝั่งอันดามัน
โดยเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 นายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ได้ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ และเปิดโครงการ “เอจีซี วีนิไทย ร่วมใจปลูกปะการัง ในพื้นที่เกาะไข่” โดยมีนายวรเทพ เลิศวิญญู รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานวางแผนองค์กร บริษัท เอจีซี วีนิไทย จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยนายประสาน แสงไพบูลย์ ประธานมูลนิธิรักษ์ปะการัง โดยความอุปถัมภ์ของ บมจ. เอจีซี วีนิไทย ร่วมลงนามความร่วมมือกับ ผู้แทนจากวิสาหกิจชุมชนแหล่งเรียนรู้ธนาคารปูม้าเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศบ้านหินกบ, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ณ ห้องประชุม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพร เขตรอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร
ต่อเนื่องในวันที่ 8 พฤศจิกายน นายปิยพงศ์ ชูวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง ได้ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือและพิธี เปิดโครงการ “เอจีซี วีนิไทยร่วมใจปลูกปะการัง พื้นที่เกาะพยาม” โดยบริษัท เอจีซี วีนิไทย จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย มูลนิธิรักษ์ปะการัง โดยความอุปถัมภ์ของ บมจ.เอจีซี วีนิไทย ร่วมกับ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ชุมชนเกาะพยาม และ สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง ณ สะพานท่าเทียบเรือเกาะพยาม อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง
“บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในโครงการ เอจีซี วีนิไทยร่วมใจปลูกปะการัง ในพื้นที่เกาะไข่ จังหวัดชุมพร และเกาะพยาม จังหวัดระนองนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงพลังความร่วมมือระหว่างภาคประชาชน ภาครัฐ สถาบันการศึกษาและภาคเอกชนในการช่วยกันขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้แก่ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในอนาคตเพื่อเป็นแหล่งอาหาร แหล่งเรียนรู้ แหล่งสร้างงาน สร้างรายได้ในเชิงเศรษฐกิจโดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ อันนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนไทย” นายวรเทพ เลิศวิญญู รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานวางแผนองค์กร กล่าว
ทั้งนี้ในการดำเนินโครงการฯ นั้น บริษัทฯ และมูลนิธิรักษ์ปะการังฯ จะได้นำองค์ความรู้และประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญในแต่ละองค์กรพันธมิตรมาบูรณาการร่วมกัน เพื่อถ่ายทอดให้กับชุมชนด้วยการสนับสนุนจากภาครัฐ ตลอดระยะเวลาความร่วมมือ 3 ปี นับจากนี้ไป